พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

สถานที่ตั้ง  : ถ.กรุงศรีใน ต.ในเมือง อ.เมืองสุรินทร์  ใกล้กับศาลากลางจังหวัดสุรินทร์
เปิดทำการ : เปิดวันพุธ – วันอาทิตย์  เวลา 09.00-16.00 น.
                    ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

โทรศัพท์ / โทรสาร. 0 4415 3054   E-mail : surinmuseum@yahoo.com

เป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองสุรินทร์ มีเรื่องราวและเนื้อหาที่จัดแสดง เน้นภูมิหลังและสิ่งที่มีคุณค่าในจังหวัดสุรินทร์ มีการจัดแบ่งอาคารแสดงเป็น 4 ส่วน คือ อาคารที่ 1 เป็นโถงทางเข้าและทางเดิน อาคารที่ 2 เป็นส่วนการศึกษา ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องกิจกรรม ห้องรับรอง ห้องสมุด อาคารที่ 3 เป็นอาคารจัดแสดงและสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องนิทรรศการถาวร ห้องนิทรรศการชั่วคราว ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ อาคารที่ 4 เป็นคลังพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วย ห้องคลังโบราณวัตถุ ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์และสงวนรักษา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ตั้งขึ้นตามโครงการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง จัดการแสดงเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 เรื่องได้แก่

1.ธรรมชาติวิทยา  จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วยสภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และเรื่องข้าว เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิ ที่มี คุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศ

2.ประวัติศาสตร์โบราณคดี จัดแสดงพัฒนาการของผู้คนในจังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000 – 1,500 ปีมาแล้ว สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 สมัยวัฒนธรรมขอม ประมาณพุทธศตรรษที่ 12 – 18 และสมัยวัฒนธรรมล้านช้าง-อยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 24
3.ประวัติศาสตร์เมือง  จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2302 หัวหน้าชาวกูย ประกอบด้วย เชียงปุม เชียงฆะ เชียงสี ตากะจะ และเชียงขันช่วยจับช้างเผือกที่หลุดมาจากกรุงศรีอยุธยา ส่งกลับคืนไปได้ มีความดีความชอบ  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงปกครองหมู่บ้าน ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นเมือง มีการปฏิรูปการปกครองมาตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา
4.ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กูยหรือกวย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับช้างและฝึกช้าง เขมรและลาวที่มีความสามารถในการทอผ้าไหมได้งดงาม

5.มรดกดีเด่น จัดแสดงเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ที่โดดเด่น เช่น การทอผ้าไหม การทำเครื่องประดับเงิน ศิลปะการแสดงพื้นบ้านและวิถีชีวิตกูยกับช้าง

แผนที่