ปราสาทศีขรภูมิ

โบราณสถานปราสาทศีขรภูมิ

สถานที่ตั้ง        :     บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
เปิดทำการ       :     เวลาเปิด – ปิด : ๐๗.๓๐ – ๑๘.๐๐ น. ทุกวัน
อัตราค่าเข้าชม :    ชาวไทย ๑๐ บาท
                             ชาวต่างประเทศ ๕๐ บาท
การเดินทาง      :    เดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปอำเภอศีขรภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ระยะทาง ๓๖.๕ กิโลเมตร
Website : https://www.finearts.go.th/surinmuseum

ปราสาทศีขรภูมิ สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ปรากฏหลักฐานจารึกที่กรอบประตูของปราสาทด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และมีการตัดแปลงภายในเรือนธาตุ และปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีการตัดแปลงส่วนยอดให้มีรูปแบบเหมือนธาตุหรือเจดีย์ที่นิยมในช่วงเวลานั้น
ปราสาทศีขรภูมิ ประกอบด้วยปราสาท จำนวน ๕ หลัง สร้างด้วยอิฐ หินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปราสาทบริวารล้อมรอบอยู่ทั้ง ๔ ทิศ มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบโดยเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก(ปัจจุบันได้ถมดินเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันตกเพิ่ม) รูปแบบของผังเป็นการแสดงลักษณะของการจำลองภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล เหมือนกับลักษณะผังในประเทศกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทแปรรูป และปราสาทนครวัด เป็นต้น โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปราสาทประธาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มีประตูทางเข้า- ออกด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าจำหลักภาพศิวนาฏราชยืนบนแท่น มีรูปหงส์แบก ๓ ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุขใช้มือจับเท้าสิงห์ยืนผงาดชูท่อนพวงมาลัยเป็นวงโค้งออกไปทั้งสองข้าง ปลายท่อนพวงมาลัยทำลายเป็นใบไม้ม้วนเป็นวงโค้ง ๓ วงลดหลั่นกัน ภายในวงโค้งจำหลักเป็นเทพนรสิงห์ รูปฤษีและรูปหงส์ ใต้ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้ม้วนเป็นวงโค้งรูปไข่ ภายใต้วงโค้งจำหลักพระนางบรรพตี(พระอุมา) พระนารายณ์ พระพรหม พระคเณศ และเทพทรงสิงห์ อยู่ด้านล่าง ส่วนเสาประดับกรอบประตูจำหลักเป็นเทพธิดา ลายก้ามปู และรูปทวารบาล ส่วนบริเวณหน้าบันเป็นอิฐปรากฏร่องรอยของการประดับลวดลายปูนปั้น
ปราสาทบริวาร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม มีประตูทางเข้า-ออกด้านทิศตะวันออกด้านเดียว พบทับหลัง ๒ ชิ้น คือ ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ และทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์(ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์) ปราสาทบริวารทิศตะวันออกเฉียงใต้พบจารึกที่ผนังกรอบประตูเป็นจารึกอักษรธรรมอีสานภาษาไทย-บาลี กล่าวถึงเรื่องราวของกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยา ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งนี้
จารึกอักษรธรรมอีสานภาษาไทย-บาลี ได้รับการอ่านและแปลจากนายพิเชษฐ์ ชัยพร และนายเทิม มีเต็ม (สมมาตร์ ผลเกิด, ๒๕๓๔ : ๔๒-๔๓) ได้ความว่า “ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาในท้องถิ่นได้บูรณะปราสาทหินบ้านระแงง โดยเข้าใจว่าเป็นพระมหาธาตุของศาสนาพุทธ”
อายุสมัย : จากลวดลายที่เสาและทับหลังของปราสาทประธานและปราสาทบริวารทั้ง ๔ หลัง มีลักษณะเป็นศาสนสถานปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. ๑๕๕๐ – ๑๖๕๐) และแบบนครวัด (พ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๗๐๐) เนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือต้นสมัยนครวัด และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน :
พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรกำหนดจำนวนโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ หน้า ๓๗๑๒ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ (ในขณะนั้นยังไม่ได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน)
พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๑๐๔ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔ หน้า ๒๐๓๔ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา

แผนที่