เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับชัน-ห้วยสำราญ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ

สถานที่ตั้ง         : 72 หมู่ที่ 13 ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ 32210
เปิดบริการ        : ทุกวัน เวลา 08.30-16.00 น.
สอบถามข้อมูล :  โทร. 044 069 920
facebook       : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ

ในปี พ.ศ. 2536 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านจรัส ได้ทรงทราบว่าป่าบริเวณรอบวัดเขาศาลา ได้แก่ ป่าเตรียมการสงวนป่าห้วยทับทัน แปลง 3 และป่าฝั่งซ้ายห้วยสำราญ มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด จึงมีพระราชดำริที่จะให้มีการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสืบไป และต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2539 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อันดับที่ 38 ของประเทศไทย ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2538
มีพื้นที่ครอบคลุม 11 ตำบล ใน 4 อำเภอของจังหวัดสุรินทร์ คือ อำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด รวมเนื้อที่ 313,445 ไร่ (เดิมเนื้อที่ 131,750 ไร่) เป็นพื้นที่ราบสลับภูเขา เนินเขา ทอดยาวตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 200 – 476 เมตร ทิศใต้ติดเทือกเขาพนมดงรัก(กัมพูชา) ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาและที่สูง และลาดลงมาทางทิศเหนือ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ส่งน้ำไปช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่ตามชายแดนในโครงการต่างๆ มีลำห้วยสำคัญหลายสาย คือ ห้วยสำราญ ห้วยเสียดจะเอิง ห้วยจรัส ห้วยรุน ห้วยกะเลงเวก ห้วยหมอนแบก ห้วยขนาดมอญ ห้วยสิงห์ ห้วยปาง ห้วยตาเกาว์ ห้วยจำเริง ห้วยสะเดา ห้วยเจรียว ฯลฯ ซึ่งลำห้วยต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญกับราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง สภาพภูมิอากาศ อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม ทำให้อากาศชุ่มชื้น และมีฝนตกชุกทั่วไป โดยมีฤดูกาล 3 ฤดู ค่อนข้างชัดเจน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ เป็นป่าธรรมชาติผืนเดียวของจังหวัดสุรินทร์ ที่มีสภาพเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ และมีแหล่งน้ำอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นพื้นที่ป่าที่มีพื้นที่ติดกับป่าตามแนวชายแดนประเทศกัมพูชาตลอดแนวเขต ซึ่งนอกจากจะมีสัตว์ป่าประจำพื้นที่แล้วยังพบสัตว์ป่าต่างๆ อีกมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ สัตว์จำพวกนก ทั้งชนิดและจำนวน ที่สำรวจพบไม่น้อยกว่า 120 ชนิด ที่พบมากได้แก่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหลังขาว นกขุนแผน นกแขกเต้า นกโพระดก นกกะรางหัวหงอก นกปรอดเหลืองหัวจุก นกปรอดสวน เหยี่ยวแดง เหยี่ยวนกเขา เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา นกกางเขนดง นกอ้ายงั่ว นกกาน้ำใหญ่ นกกระสานวล ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กระทิง วัวแดง หมูป่า เก้ง กระจง ชะนีมงกุฎ ฯลฯ

แผนที่