ปราสาทภูมิโปน

ปราสาทภูมิโปน

สถานที่ตั้ง  : บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
เปิดทำการ : เวลาเปิด – ปิด : เปิดทุกวัน (ไม่เก็บค่าเข้าชม)
Website : www.finearts.go.th/surinmuseum

ปราสาทภูมิโปน สันนิษฐานว่ามาจากชื่อภาษาเขมร คือ “ภูมิ” หมายถึง แผ่นดินหรือสถานที่ และ “ปูน” ซึ่งออกเสียงว่า “โปน” แปลว่า “หลบซ่อน” รวมความแล้วมีความหมายว่า “ที่หลบซ่อน” ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับปราสาทแห่งนี้เรื่อง “เนียงเด๊าะทม” แปลว่า “นางนมใหญ่” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์แต่ถูกนำมาพักอาศัย ณ เมืองนี้เพื่อหลบหนีภัยสงคราม    
ปราสาทภูมิโปน เป็นศาสนสถานที่ก่อสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู มีอายุการก่อสร้าง ๒ สมัย คือ สมัยแรก เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ เป็นโบราณสถานสมัยเจนละที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนของศิลาจารึก ๑ ชิ้น เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต สมัยที่สอง มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมในภายหลัง แต่ยังไม่มีการกำหนดอายุสมัย
ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วยปราสาทอิฐ ๓ หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง ๑ หลัง วางตัวเรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม สมัยแรก ประกอบด้วย
ปราสาทประธาน มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง มีหินทรายเป็นส่วนประกอบก่อด้วยอิฐไม่ส่อปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า – ออกด้านเดียว คือ ทางทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียง ๓ หลัง บริเวณใต้หน้าบันของประตูทางเข้า – ออก สลักเป็นลายรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดีย สมัยหลังคุปตะ(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓) จากการขุดแต่งโบราณสถาน พบชิ้นส่วนศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ๑ ชิ้น
ปราสาทอิฐหลังเหนือสุด เทคนิคการก่อสร้างและรูปแบบเหมือนปราสาทประธาน แต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งสภาพปัจจุบันเหลือเพียงฐาน กรอบประตู และผนังเล็กน้อย ได้พบเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย และทับหลังสลักจากหินทราย ภาพสัตว์ครึ่งสิงห์ครึ่งนกประกอบวงโค้งที่มีวงกลมรูปไข่ ๓ วง ภายในวงกลมรูปไข่น่าจะเป็นรูปบุคคล แต่ได้แตกหายไปหมดแล้ว ซึ่งลวดลายบนทับหลังและเสาประดับกรอบประตูนี้เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเมง อายุราว พ.ศ. ๑๑๘๐ – ๑๒๕๐
องค์ประกอบของโบราณสถานสมัยหลัง ประกอบด้วย
ปราสาทอิฐขนาดเล็ก ตั้งอยู่ตรงกลาง อยู่ในสภาพพังทลาย ด้านหน้าของปราสาทหลังนี้เคยพบวัวหมอบทำด้วยหินทราย
ฐานอาคารทำจากศิลาแลง ตัวอาคารพังทลายลงหมดแล้ว
นอกจากนี้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากปราสาทภูมิโปนประมาณ ๕๐๐ เมตร พบบารายใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบบวัฒนธรรมขอมโบราณ ซึ่งบารายเป็นระบบชลประทานที่สำคัญมักพบทั่วไปในชุมชนวัฒนธรรมขอมโบราณ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘ ในดินแดนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การสร้างบารายจะไม่ใช้วิธีการขุดลงไปในดินอย่างสระน้ำทั่วไป แต่เป็นการขุดดินมาก่อเป็นคันดินกั้นน้ำในบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มีลำธารธรรมชาติไหลผ่าน เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในชุมชนและยังอาจช่วยเรื่องปัญหาน้ำท่วมภายในชุมชนด้วยโดยทั่วไปบารายมักจะมีขนาดใหญ่กว่าสระน้ำ
อายุสมัย : จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการดำเนินงานขุดแต่ง คือ ชิ้นส่วนศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ในเบื้องต้นว่า ปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒

การเดินทาง : การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๗๗ สายสุรินทร์ – สังขะ ระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร จากนั้นตรงไป
ทางอำเภอบัวเชด ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๒๔ ตรงไปจนถึงทางแยกไปชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร ก็จะถึงปราสาท

แผนที่